เรื่องริบของกลางในคดีป่าไม้ ดูคำพิพากษาฎีกาที่ 6629/2557 และหมายเหตุฎีกาที่ 2291/2551

Vietnam-Le%20Quang%20Thai-PDI%20Color%20%20Open-Forest%20on%20the%20River-

ภาพจากเว็ปไซต์     http://www.sydney-harbour-international.org.au/2013/SH_2013_Color/Gallery/Vietnam-Le%20Quang%20Thai-PDI%20Color%20%20Open-Forest%20on%20the%20River-.htm

คำพิพากษาฎีกาที่ 6629/2557

พนักงานอัยการจังหวัดอุทัยธานี   โจทก์

นายเทวัญ พฤกษา กับพวก      จำเลย

ป.อ. ริบทรัพย์สิน มาตรา 33

ป.วิ.อ. จำเลยรับสารภาพศาลไม่สืบพยาน มาตรา 176

พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507   มาตรา 35

พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ

*****

การริบทรัพย์สินอันเนื่องจากการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484   มีบัญญัติไว้เป็นพิเศษ โดยในพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ได้บัญญ้ติไว้ในมาตรา 35 และ พ.ร.บ.ป่าไม้บัญญัติไว้ในมาตรา 74 และ 74 ทวิ ซึ่งแตกต่างจากการขอริบของกลางตาม ป.อ. มาตรา 33 โดยเฉพาะของกลางที่เป็นยานพาหนะ ได้มีบัญญัติไว้ในมาตรา 74 ทวิ ว่า “บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา   11   มาตรา 48   มาตรา 54 หรือมาตรา 69 ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษ ตามคำพิพากษาหรือไม่” คดีนี้จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพตามฟ้อง ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 บัญญัติว่า “ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตราโทษ อย่างต่ำไว้ให้จำคุกแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง” เมื่อคดีนี้ข้อหาตามฟ้องโจทก์กฎหมายกำหนดอัตราโทษไว้ให้จำคุกไม่เกินห้าปีทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสามยื่นคำให้การโดยระบุข้อความชัดเจนว่า “ให้การรับสารภาพตามฟ้อง” โดยมิได้ให้การต่อสู้คดีแต่อย่างใด จึงไม่มีข้อเท็จจริงให้รับฟัง เป็นอย่างอื่นแตกต่างจากคำฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำไม้ประดู่ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 1 ต้น แล้วทอนเป็นท่อนจำนวน 3 ท่อน รวมปริมาตร 0.70 ลูกบาศก์เมตร และจำเลยทั้งสามร่วมก้นมีไม้ประดู่ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปดังกล่าว  โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรา รัฐบาลขายไว้ในครอบครอง รวมทั้งได้ร่วมกันใช้รถแทรกเตอร์จำนวน 1 คัน เป็นยานพาหนะในการบรรทุกไม้ประดู่ที่จำเลยทังสามได้ร่วมก้นทำและมีไว้ดังกล่าวและใช้เพื่อให้ได้รับผลจากการกระทำผิดดังกล่าวตามฟ้อง จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า จำเลยทั้งสามมิได้ใช้รถของกลางในการเคลื่อนย้ายไม้ของกลางไปที่อื่นเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการกระทำผิดนั้น จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งแตกต่างจากคำให้การที่ จำเลยทั้งสามรับสารภาพแล้ว จึงไม่อาจรับฟังได้

เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามฟ้อง อันเป็นการกระทำอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง และ มาตรา 69 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 รถแทรกเตอร์พร้อมสาลี่พ่วงของกลางจึงเป็นยานพาหนะที่จำเลย ทั้งสามได้ใช้ในการกระทำผิด ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 35 พ.ร.บ.ป่าไม้พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิประกอบ ป.อ. มาตรา 33 และเป็นยานพาหนะที่จำเลยทั้งสามได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองซึ่งอยู่ในข่ายอันจะพึงริบตามมาตรา 74 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้พ.ศ. 2484

โปรดดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7713/2554 ประกอบ

ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมีรายการต่าง ๆ ที่จะต้องมีในคำฟ้องอีกรวม 7 อนุมาตรา แต่มิได้มีเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะขอให้ศาลสั่งริบว่าจะต้องมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เมื่อโจทก์ได้บรรยายมาในคำฟ้องว่าเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พร้อมกับยึดเครื่องสูบน้ำเป็นของกลางและมีคำขอให้ริบเครื่องสูบน้ำดังกล่าวจึงเป็นการเพียงพอแล้วม่จำต้องบรรยายมาในฟ้องว่าเป็นของผู้ใดและใช้ในการกระทำความผิดอย่างไร

เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบเครื่องสูบน้ำของกลางแล้ว แต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าจะริบเครื่องสูบน้ำของกลางหรือไม่ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และการริบทรัพย์สินแม้ ป.อ. มาตรา 18 จะบัญญัติว่าเป็นโทษสถานหนึ่ง แต่เป็นโทษที่มุ่งถึงตัวทรัพย์เป็นสำคัญต่างกับโทษสถานอื่นซึ่งแม้จำเลยจะไม่ได้กระทำความผิดหรือกระทำความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ ศาลก็มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินของกลางได้ จึงมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ย่อมมีอำนาจสั่งริบของกลางได้

และในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11260/2553 นั้นระบุว่าสามารถใช้บทบัญญัติตาม ป.อ. 33 มาใช้บังคับแม้ว่าจะริบในกรณี พ.ร.บ.ป่าไม้ ไม่ได้

ป.อ. มาตรา 33(1)

พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 29 ทวิ

         แม้ศาลจะสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2584 มาตรา 29 ทวิ ไม่ได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้โดยตรงแต่ก็ไม่มีบทบัญญัติใดที่แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการให้นำบทบัญญัติในภาค 1 แห่ง ป.อ. มาใช้บังคับ ทั้งตาม ป.อ. มาตรา 33 ก็ได้บัญญัติให้ศาลมีอำนาจริบทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดได้ นอกเหนือจากอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ดังนั้น เมื่อรถยนต์กระบะของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 กับพวกได้ใช้ในการกระทำความผิด ศาลก็มีอำนาจริบรถยนต์กระบะของกลางได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) การที่จำเลยที่ 1 กับพวกใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นพาหนะใช้ในการขนกล้วยไม้ป่าจำนวน 320 ต้น น้ำหนัก 31 กิโลกรัม ซึ่งเป็นของป่าหวงห้ามที่มีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก นอกจากเป็นเหตุทำให้กล้วยไม้ป่าอาจสูญพันธุ์ไปจากป่าของประเทศไทยแล้ว ยังมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพต่างๆ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ จึงสมควรริบรถยนต์กระบะของกลาง

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2553)

นอกจากนี้หมายเหตุคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2291/2551 เป็นเรื่องที่ควรสนใจศึกษาอย่างยิ่งคือ .-

พนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา      โจทก์

นายกอบศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา                    จำเลย

ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง ยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติโดยปลูกบ้านพักตากอากาศ 1 หลัง และบ้านพักคนงาน 1 หลัง ในที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยสร้างบ้านที่เกิดเหตุให้นายบู๊ซึ่งนับถือเสมือนลุงไว้อยู่อาศัยและไม่เคยกันไว้เป็นของส่วนตัวนั้นไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ส่วนที่โจทก์อ้างว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติอีกประมาณ 207 ไร่ นั้น โจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะชี้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ใช้จ้างวานให้คนงานปลูกมันสำปะหลังดังกล่าว จำเลยก็ให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติอีกประมาณ 207 ไร่ ตามที่โจทก์ฟ้อง

ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนัก เห็นว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองปลูกบ้านพักตากอากาศ 1 หลัง กับบ้านพักคนงานอีก 1 หลัง ในที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ แต่เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ในแนวเขตแก้ไขปัญหาราษฎรเรื่องที่ดินทำกิน และรัฐยังผ่อนผันให้ราษฎรที่เข้าทำกินก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติให้เข้าอาศัยทำกินต่อไปได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่ร้ายแรงนัก ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี และรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้นเหมาะสมแล้ว แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำจึงเห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยให้หนักขึ้น ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

อนึ่ง สำหรับบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง ที่จำเลยปลูกสร้างขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานนั้น มิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ อาวุธ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใดๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดโดยตรงตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 29 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคห้า จึงไม่อาจริบตามคำขอของโจทก์ได้ อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 22 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เป็นเหตุให้มีสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่หรือมีสิ่งอื่นใดในอุทยานแห่งชาติผิดไปจากสภาพเดิม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำความผิดทำลายหรือรื้อถอนสิ่งนั้นๆ ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ หรือทำให้สิ่งนั้นๆ กลับคืนสู่สภาพเดิมแล้วแต่กรณี ถ้าผู้กระทำความผิดไม่ปฏิบัติตาม หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด หรือเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายแก่อุทยานแห่งชาติ พนักงานเจ้าหน้าที่จะกระทำการดังกล่าวแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งเสียเองก็ได้ตามสมควรแก่กรณี และผู้กระทำความผิดมีหน้าที่ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการเสียเองนั้น” แสดงว่า ในกรณีมีสิ่งปลูกสร้างขึ้นในอุทยานแห่งชาติโดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฯ กฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยรื้อถอนบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง แต่เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบบ้านของกลางทั้ง 2 หลังศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่ให้ปรับจำเลย 400,000 บาท และคุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง เพื่อพนักงานคุมประพฤติจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนจำเลยในเรื่องที่เกี่ยวกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องอื่นๆ ตามที่เห็นสมควรกับให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีก และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนไม่เกิน 2 ปี ไม่ริบของกลาง แต่ให้จำเลยรื้อถอนบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ

มีหมายเหตุท้ายฎีกาที่น่าสนใจ

ตามหลักแล้วการที่ศาลมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ไม่ว่าจะเป็นการริบทรัพย์สินตาม ป.อ. มาตรา 32 และมาตรา 33 ก็ตามโจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงของกลางที่เจ้าพนักงานได้ยึดไว้ และมีคำขอให้ริบมาด้วย หากโจทก์มิได้บรรยายฟ้องไว้และมีคำขอให้ริบทรัพย์สินใด ศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินนั้นได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง สำหรับคดีตามที่หมายเหตุนี้โจทก์ได้กล่าวในฟ้องแล้วว่าเจ้าพนักงานยึดบ้านพักตากอากาศและบ้านพักคนงานอย่างละหนึ่งหลัง และมีคำขอให้ริบทรัพย์สินด้วย ในกรณีปกติศาลมีอำนาจสั่งริบบ้านของกลางทั้งสองหลังได้ แต่เนื่องจากบ้านของกลางทั้งสองหลังมิใช่ทรัพย์สินที่พึงริบตามบทบัญญัติกฎหมายที่โจทก์อ้างอันได้แก่ พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 74 ทวิ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 29 ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคห้า ซึ่งศาลต้องยกคำขอให้ริบของกลาง เพียงแต่คดีนี้ศาลฎีกาได้วางแนวเพิ่มเติมว่า หากทรัพย์สินที่ขอให้ริบเข้าเกณฑ์ที่กฎหมายต้องการให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 22 แล้ว คล้ายกับให้ถือว่าคำขอให้ริบบ้านของกลางทั้งสองหลังเป็นคำขอประเภทเดียวกับคำขอให้จำเลยรื้อถอนบ้านของกลางทั้งสองหลัง ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนบ้านของกลางทั้งสองหลังได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

อาคม รุ่งแจ้ง

หมายเหตุ

จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 16 (1) (2) (13), 24, 27, 29 พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 55, 72 ตรี วรรคหนึ่งและวรรคสาม, 74 ทวิ ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1) (2), 108 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสี่และวรรคท้าย พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ มาตรา 99 สำหรับโทษอุปกรณ์โจทก์ขอให้ริบบ้าน 2 หลังและให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ตัวแทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ แต่ศาลสั่งให้รื้อบ้านออกไป

มีข้อสังเกตว่าการที่จำเลยก่อสร้างบ้านลงในที่ดินที่เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติและป่าไม้ บ้านเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง

การพิจารณาว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายและเจตนาของผู้กระทำความผิด

  1. ป.ที่ดิน

มาตรา 9 ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการเหมืองแร่และการป่าไม้ที่ดินของรัฐนั้นถ้ามิได้มีสิทธิครอบครอง หรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ห้ามมิให้บุคคลใด

(1) เข้าไปยึดถือ ครอบครอง รวมตลอดถึงการก่นสร้างหรือเผาป่า…

มาตรา 108 ทวิ วรรคห้า บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใดๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดดังกล่าว ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

  1. พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ

มาตรา 16 ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใด

(1) ยึดถือหรือครอบครองที่ดิน รวมตลอดถึงก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า…

มาตรา 22 ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เป็นเหตุให้มีสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่หรือมีสิ่งอื่นใดในอุทยานแห่งชาติผิดไปจากสภาพเดิม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำความผิดทำลายหรือรื้อถอนสิ่งนั้นๆ ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ หรือทำให้สิ่งนั้นๆ กลับคืนสู่สภาพเดิม แล้วแต่กรณี ถ้าผู้กระทำความผิดไม่ปฏิบัติตาม หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด หรือเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายแก่อุทยานแห่งชาติ พนักงานเจ้าหน้าที่จะกระทำการดังกล่าวแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งเสียเองก็ได้ตามสมควรแก่กรณี และผู้กระทำความผิดมีหน้าที่ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการเสียเองนั้น

มาตรา 29 บรรดาอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้และยานพาหนะใดๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 16 (1) ฐานแผ้วถางหรือเผาป่า… ให้ริบเสียทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่

  1. พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ

มาตรา 54 ห้ามมิให้ผู้ใด ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น…

มาตรา 74 ทวิ บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใดๆ …ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

  1. พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ

มาตรา 99 ผู้ใดบุกรุกหรือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเข้าไปกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลาย ทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติหรือศิลปกรรมอันควรแก่การอนุรักษ์หรือก่อให้เกิดมลพิษอันมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดตามมาตรา 43…

จากบทกฎหมายดังกล่าว การกระทำความผิดฐานบุกรุกอุทยานแห่งชาตินั้นก็เป็นความผิดแล้ว หากใช้เครื่องมือสิ่งหนึ่งสิ่งใดในการแผ้วถาง สิ่งนั้นก็เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดที่ศาลสั่งริบได้ หลังจากบุกรุกแล้วยังคงครอบครองต่อเนื่องอยู่ซึ่งการครอบครองอาจกระทำโดยล้อมรั้วก็ดี สร้างบ้านก็ดี ทั้งรั้วและบ้านน่าจะถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดฐานครอบครองอุทยานแห่งชาติแล้วกล่าวคือส่วนที่ถูกล้อมภายในรั้วหรือส่วนที่ใช้เป็นที่ตั้งของบ้านก็คือส่วนที่ผู้กระทำความผิดเจตนาครอบครอง จะว่ารั้วและบ้านที่สร้างขึ้นไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดฐานครอบครองฯ โดยตรงก็ดูจะขัดกับสภาพที่เป็นจริง

มีข้อพิจารณาว่าโจทก์ขอให้ริบบ้าน มิได้ขอให้รื้อบ้าน ศาลจะพิพากษาให้รื้อบ้านได้หรือไม่ เคยมีคำพิพากษาว่าไม่สามารถกระทำได้เพราะเกินคำขอ คือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 662/2522 แต่คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่หมายเหตุนี้วินิจฉัยว่าศาลมีอำนาจสั่งให้รื้อได้ เป็นการวินิจฉัยที่ชอบแล้วเพราะตามกฎหมายทั้งสี่ฉบับที่จำเลยกระทำความผิดนี้มุ่งคุ้มครองให้ที่ดินคงสภาพเดิมไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันนี้สภาพสิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปมาก ศาลก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สามารถช่วยปราบปรามการทำลายสิ่งแวดล้อมได้โดยการพิจารณาลงโทษในลักษณะปราบปรามผู้กระทำความผิด อีกทั้งการสั่งให้รื้อมีสภาพบังคับเบากว่าริบเพราะกรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้กระทำความผิด อย่างน้อยก็ยังได้ทรัพย์ส่วนที่รื้อคืนไป จึงถือว่าคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้กลับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 662/2522 แล้ว

ศิริชัย วัฒนโยธิน

ใส่ความเห็น